แอมโมเนียและยูเรียกำลังมีความต้องการมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นปิโตรเคมี การเกษตร ยา สิ่งทอ ฯลฯ จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมแอมโมเนียและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกำไรจะได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการประมาณการผลิต ต้นทุนค่าใช้จ่าย และความสามารถในการป้อนสินค้าเพื่อตอบสนองกับความต้องการในตลาดที่อาจมีความผันผวน อย่างไรก็ดี การจำลองด้วยโปรแกรมทางคณิตศาสตร์ช่วยให้การประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าทำได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น

นักวิจัยจึงเตรียมชุดข้อมูลแล้วนำไปใช้ในการคำนวณ โดยตัวอย่างการทดลองมีสามส่วนดังนี้ ส่วนที่หนี่งเป็นการประมาณการผลิตแอมโมเนียและยูเรียจากมีเทนที่ได้จากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าหากได้รับก๊าซธรรมชาติปริมาณ 1,930 ตันต่อวัน จะสามารถผลิตแอมโมเนียและยูเรียได้ 3,906 และ 5,722 ตันต่อวันตามลำดับ

ส่วนที่สอง การคำนวณค่าใช้จ่ายจากต้นทุนพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตแอมโมเนียและยูเรีย ซึ่งในปริมาณที่ได้ประมาณการไว้ข้างต้นจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 647,632 และ 391,056 ดอลลาร์สหรัฐต่อวันตามลำดับ

และส่วนที่สาม การวิเคราะห์เชิงธุรกิจเพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมในการส่งแอมโมเนียและยูเรียให้ห่วงโซ่อุปทาน โดยสมมุติให้ตลาดสามแห่งมีความต้องการสินค้าในปริมาณต่าง ๆ ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกันในการส่งสินค้า 10 รูปแบบ ซึ่งคำนึงถึงระยะทาง ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายในกรณีส่งสินค้าขาดหรือเกินจากความต้องการตลาด เพื่อเป็นการจำลองสถานการณ์ให้สมจริงมากที่สุด ตัวอย่างเช่น หากมีกำลังการผลิตแอมโมเนีย 2,050 ตัน จะต้องขายให้ตลาดสามแห่งในช่วง 774 – 889 ตันต่อวันภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดจึงจะได้กำไรสูงสุด

ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ในการทดลองจริงมีการคำนวณที่ซับซ้อนและต้องปรับปรุงรูปแบบการคำนวณให้แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการคาดการณ์ในลักษณะนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทุกอุตสาหกรรมรวมทั้งในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมในแต่ละปีกว่าพันล้านบาท

ผลงานโดย คุณเสียงเพลง ศรีสมุทร ทีมวิจัยของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กิติพัฒน์ สีมานนท์ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สนใจติดต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ โทร 02-218-4141 ถึง 2 เว็บไซต์ petromat.org และเฟซบุ๊ก petromat.coe

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 7 ห้อง 705/1
254 ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
  02 2184141-2
petromat@chula.ac.th